คณะกรรมการบริษัทฯ ได้จัดให้มีคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดีตามหลักการกำกับดูแลกิจการสำหรับบริษัทจดทะเบียน และได้มีการจัดทำกฎบัตรคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วย
- กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ
- กฎบัตรคณะกรรมการสรรหา
- กฎบัตรคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน
- กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
- กฎบัตรคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการตรวจสอบ มีกรรมการตรวจสอบ 3 ท่านที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้ ได้แก่ นางบุญเพิ่ม
เจียมธีระนาถ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบ, นายสุรเชษฐ์ สุบุญสันธ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ และ รศ. ดร. สมชาย สุภัทรกุล
ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ โดยบริษัทฯ ได้ระบุคุณสมบัติกรรมการตรวจสอบไว้ในหนังสือรับรองประวัติของกรรมการตรวจสอบที่ต้องส่งต่อตลาดหลักทรัพย์แล้ว
- 1.1สอบทานให้บริษัทฯ มีรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ
- 1.2สอบทานให้บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายใน และระบบการตรวจสอบภายใน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล และพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนความเห็นชอบในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้างหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
- 1.3สอบทานให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
- 1.4พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และเสนอค่าตอบแทนของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- 1.5พิจารณารายการที่เกี่ยวโยง หรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผล และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ
- 1.6จัดทำรายงานการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ ซึ่งรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้
- 1.7ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการของบริษัทฯ มอบหมายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการสรรหา ทำหน้าที่ พิจารณาโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะขององค์กร คัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการตามวิธีการสรรหาที่ได้กำหนดไว้ เพื่อเสนอชื่อให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาเสนอชื่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาแต่งตั้ง ดูแลให้บริษัทฯ จัดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ จัดทำแผนพัฒนาความรู้ของกรรมการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจัดทำแผนสืบทอดงานในตำแหน่งกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงและทบทวนแผนดังกล่าวเป็นประจำทุกปี
คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน ทำหน้าที่พิจารณารูปแบบและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนของกรรมการ เพื่อให้รูปแบบและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนมีความเหมาะสม ก่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยอ้างอิงข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนจากบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน กำหนดเกณฑ์ในการประเมินผลประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อนำเสนอเกณฑ์ในการประเมินผลดังกล่าวให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมถึงยังพิจารณากำหนดค่าตอบแทนประจำปีของกรรมการ เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ โดยค่าตอบแทนของกรรมการ คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องนำเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ นอกจากนี้หากมีการเสนอขายหลักทรัพย์ใหม่หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ให้แก่กรรมการและพนักงาน คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนจะพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้กรรมการและพนักงานปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวและยังสามารถรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่สูงเกินไปและเป็นธรรมต่อ ผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทฯ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความเห็นชอบ วิเคราะห์และตรวจสอบปัจจัยความเสี่ยงทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกองค์กร โดยครอบคลุมความเสี่ยงในทุกด้าน เช่น ความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงทางการดำเนินงาน และความเสี่ยงด้านการลงทุน เป็นต้น กำหนดแนวทางและกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับนโยบายบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ยอมรับได้นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้มั่นใจว่านโยบายการบริหารความเสี่ยงได้มีการสื่อสารกันอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร ทบทวนความเพียงพอของนโยบายการบริหารความเสี่ยงโดยรวม ความมีประสิทธิผลของระบบและการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้ รวมถึงสนับสนุนและพัฒนาการบริหารความเสี่ยงให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งองค์กรและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ ทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำร่างนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจ ภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลและให้คำแนะนำแก่กรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารในการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบและหลักเกณฑ์ของนโยบายการกำกับดูแลกิจการ พิจารณาทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจโดยสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานสากล รวมไปถึงส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมในการกำกับดูแลกิจการที่ดี ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่กำหนดไว้ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการยังมีหน้าที่ในการจัดทำรายงานผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการประจำปี และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ พร้อมทั้งนำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะที่จำเป็นตามความเหมาะสมอีกด้วย