ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ สร้างโอกาสในการลงทุน
หากคุณกำลังวางแผนซื้อบ้าน คอนโด หรือที่ดินเพื่ออยู่อาศัยหรือลงทุน แล้วย้อนไปศึกษาราคาย้อนหลัง จะสังเกตได้ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าเบื้องหลังของปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์มีอะไรบ้าง ?
ตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งจากนโยบายของทางภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค การทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยและที่ดินปรับตัวสูงขึ้น จะช่วยให้คุณตัดสินใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างชาญฉลาด นำไปสู่การสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

1. ทำเลที่ตั้งและศักยภาพของพื้นที่
ทำเลที่ตั้งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในโซนศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) เช่น ย่านสาทร สีลม หรืออโศก ซึ่งมีความหนาแน่นของสำนักงาน บริษัทข้ามชาติ และหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้สูงตามไปด้วย ส่งผลต่อมูลค่าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่นั้น ๆ โดยตรง
ส่วนพื้นที่ที่อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมหรือศูนย์กลางโลจิสติกส์อย่างย่านบางนา-ตราด ก็มีแนวโน้มราคาที่ดินและอสังหาฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากเป็นแหล่งรวมคนทำงานทุกระดับ ทำให้ทำเลแห่งนี้มีความต้องการด้านที่อยู่อาศัยไม่ต่างจากทำเลอื่น ๆ
สุดท้าย พื้นที่ที่มีการขยายตัวของเมือง รวมถึงการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และ รถไฟฟ้าสายใหม่ เช่น รังสิต คูคต ดอนเมือง กรุงเทพกรีฑา ก็เป็นตัวเร่งให้ราคาที่ดินในบริเวณนั้นมีศักยภาพในการเติบโตสูง และเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วยเช่นกัน
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคม
สืบเนื่องจากทำเลที่ตั้ง อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางด่วน ระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ และจากความสะดวกในการเดินทางและการเข้าถึงที่ดีขึ้นนี้เอง จึงส่งผลให้พื้นที่นั้น ๆ เป็นที่ต้องการมากขึ้น และทำให้ราคาสูงขึ้นไปด้วย
3. อัตราดอกเบี้ยและการเข้าถึงสินเชื่อ
อัตราดอกเบี้ยมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ต้นทุนการกู้ยืมลดลง ทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อบ้านหรือคอนโดได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยสูง ความต้องการซื้อจะลดลง และราคาก็อาจปรับตัวลดลงตามไปเช่นกัน
4. ต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น
ต้นทุนในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าวัสดุ ค่าแรง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ หากต้นทุนเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้น บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องปรับราคาขายให้สูงขึ้นตาม เพื่อรักษากำไรให้องค์กรอยู่ได้
5. นโยบายภาครัฐและมาตรการทางภาษี
ปัจจัยที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นหรือลดลงอีกหนึ่งข้อที่ต้องพูดถึง คือมาตรการทางภาษีและนโยบายที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง การลดภาษีที่ดิน สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถกระตุ้นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ได้ และส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้นในระยะสั้น

6. สภาพเศรษฐกิจโดยรวมและอัตราเงินเฟ้อ
สภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต ความต้องการอสังหาริมทรัพย์มักจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ในทางกลับกัน ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยหรือมีความผันผวน ความต้องการซื้อจะลดลง จึงมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวลดลงตามไปด้วย ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะทำให้มูลค่าของเงินลดลง มักส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
7. อุปสงค์-อุปทานของตลาด
ความสมดุลระหว่างอุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) และอุปทาน (ปริมาณสินค้าที่มีจำหน่าย) เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ถ้าความต้องการซื้อสูงกว่าปริมาณสินค้าในตลาด ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากมีสินค้ามากกว่าความต้องการซื้อ ราคาก็จะปรับตัวลดลง ซึ่งปัจจัยนี้มีความเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และนโยบายภาครัฐด้วย
8. การเก็งกำไรและแรงซื้อจากนักลงทุน
การเก็งกำไรจากนักลงทุนสามารถผลักดันราคาอสังหาริมทรัพย์ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาในอนาคตและอยู่ใกล้กับโครงการพัฒนารถไฟฟ้าสายใหม่ แต่หากการเก็งกำไรเกิดขึ้นมากเกินไป อาจทำให้ราคาสูงเกินจริงและมีความเสี่ยงต่อการปรับลดลงในอนาคตเพราะไม่มีความต้องการที่แท้จริงรองรับ
9. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต
ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์รวมถึงความต้องการในการซื้อ คือ คุณภาพของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ พื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา โรงพยาบาล ศูนย์การค้า หรือระบบขนส่งมวลชน ย่อมดึงดูดผู้ซื้อและนักลงทุนมากกว่าพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและไม่สะดวกสบายเท่า
ปัจจัยที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นมีหลายองค์ประกอบ สำหรับนักลงทุนและผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท การทำความเข้าใจแนวโน้มตลาดและเลือกลงทุนในทำเลที่มีศักยภาพ สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ เพิ่มโอกาสการซื้ออสังหาฯ ได้ในราคาที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
หากคุณต้องการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ แล้วมองหาโครงการคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมบนทำเลศักยภาพสูง ระบบคมนาคมสะดวกสบาย รวมทั้งมีรูปแบบโครงการที่สอดคล้องกับชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อการสร้างกำไรอย่างยั่งยืนและมั่นคง เลือกโครงการที่ตอบโจทย์และลงตัวในทุกมิติได้ที่เว็บไซต์ของ Noble Development รวมไว้ครบครันทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด โฮมออฟฟิศ ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ออกแบบทุกโครงการด้วยความใส่ใจ ตั้งอยู่ในย่านที่มีความต้องการด้านการอยู่อาศัยสูง อ่านรายละเอียดโครงการ นัดหมายเข้าชม และรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรา
ข้อมูลอ้างอิง :
- ปัจจัยใดบ้าง ส่งผลให้ ราคาบ้านและคอนโดพุ่งสูงขึ้น. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 จาก https://www.reic.or.th/Knowledge/SuggestionHomeDetail/185