สรุปขั้นตอนสำคัญในการ “เปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้า”
ในการซื้อบ้านใหม่ หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดคือเรื่องการ "โอนย้ายมิเตอร์ไฟฟ้า" เพื่อช่วยให้เจ้าของบ้านมั่นใจว่า จะได้รับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าที่ถูกต้อง และสะดวกต่อการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค
สำหรับใครที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า บทความนี้มาพร้อมกับขั้นตอนฉบับเข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้คุณดำเนินการได้อย่างราบรื่น

ไขข้อสงสัย กรณีใดบ้างที่ต้องเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้า
การเปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้เจ้าของบ้าน หรือผู้เช่ามีสิทธิ์ในการใช้ไฟฟ้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมป้องกันปัญหาการเรียกเก็บค่าไฟผิดบุคคล รวมถึงช่วยให้สามารถติดตามค่าใช้จ่ายได้อย่างเป็นระบบ โดยกรณีที่ต้องเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า มีดังต่อไปนี้
1. กรณีซื้อบ้านใหม่
เมื่อซื้อบ้านใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ หรือคอนโดมิเนียม เจ้าของบ้านคนใหม่ต้องดำเนินการเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้าให้ตรงกับตนเอง เพื่อให้บิลค่าไฟออกในชื่อเจ้าของบ้านที่ถูกต้อง และสามารถจัดการเรื่องค่าไฟได้สะดวก
หากไม่มีการเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้า ค่าไฟอาจยังคงถูกเรียกเก็บในชื่อของผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการชำระเงิน หรือในบางกรณีอาจมีหนี้ค้างชำระจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของโครงการ ทำให้ผู้ซื้อบ้านใหม่ต้องเสียเวลาในการตรวจสอบและแก้ไข
2. ซื้อบ้านมือสอง
กรณีซื้อบ้านมือสอง การเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะมิเตอร์ไฟฟ้ายังคงจดทะเบียนในชื่อของเจ้าของเดิม หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ชื่อในใบแจ้งหนี้จะยังเป็นของเจ้าของเก่า อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดหรือปัญหาในการเรียกเก็บค่าไฟได้
นอกจากนี้ การเปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้ายังช่วยให้เจ้าของบ้านใหม่สามารถตรวจสอบประวัติการใช้ไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง หากมีหนี้ค้างชำระจากเจ้าของเดิม ก็สามารถแจ้งให้การไฟฟ้าดำเนินการแก้ไขก่อนที่เจ้าของใหม่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ไฟของตนเอง
3. มีผู้เช่าบ้าน และต้องการให้ผู้เช่ารับผิดชอบค่าไฟโดยตรง
สำหรับเจ้าของบ้านที่ปล่อยเช่า อาจต้องการให้ผู้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบค่าไฟฟ้าด้วยตัวเองเพื่อลดภาระในการเก็บเงินค่าไฟและป้องกันปัญหาการค้างชำระจากผู้เช่าเดิม
หากยังคงใช้ชื่อของเจ้าของบ้านในการออกบิล อาจเกิดปัญหาหนี้ค้างชำระในกรณีที่ผู้เช่าย้ายออกโดยไม่จ่ายค่าไฟงวดสุดท้าย ดังนั้น การเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้าให้เป็นชื่อของผู้เช่าจะช่วยให้เจ้าของบ้านไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่าไฟและสามารถตรวจสอบสถานะการชำระเงินได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เช่าย้ายออก เจ้าของบ้านสามารถขอเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้ากลับมาเป็นของตนเอง หรือเปลี่ยนเป็นชื่อผู้เช่ารายใหม่ได้ตามความเหมาะสม
ขั้นตอนการโอนย้ายมิเตอร์ไฟฟ้า
จะเห็นได้ว่าทุกครั้ง เมื่อทำการซื้อบ้านใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของบ้าน การโอนย้ายมิเตอร์ไฟฟ้านับเป็นขั้นตอนสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้การใช้ไฟฟ้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจบปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในอนาคต โดยขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้าไม่ได้มีความซับซ้อนยุ่งยาก ทั้งยังสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

1. ติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ก่อนดำเนินการโอนย้ายมิเตอร์ไฟฟ้า ต้องติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งแบ่งเป็น 2 หน่วยงานหลัก ได้แก่
- การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ให้บริการในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ให้บริการในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ
โดยผู้ขอเปลี่ยนชื่อสามารถติดต่อสำนักงานการไฟฟ้าสาขาที่ใกล้ที่สุด หรือใช้ช่องทางออนไลน์ของหน่วยงานนั้น ๆ เพื่อความสะดวกสบายในการดำเนินเรื่อง
2. เตรียมเอกสารที่ใช้สำหรับการเปลี่ยนชื่อ
การทำเรื่องโอนย้ายมิเตอร์ต้องใช้เอกสารเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อให้กระบวนการดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยมีเอกสารที่ต้องใช้ ดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชน ของผู้ขอเปลี่ยนชื่อ
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า
- เอกสารแสดงสิทธิ์ครอบครองสถานที่ เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย หรือสัญญาเช่า
- ใบเสร็จค่าไฟฟ้าครั้งสุดท้ายของผู้โอน
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน)
- ในกรณีที่เจ้าของมิเตอร์เดิมเสียชีวิต ผู้ขอเปลี่ยนชื่อจะต้องใช้สำเนาใบมรณบัตร เพิ่มเติม
3. ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้า
เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้ว สามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานการไฟฟ้า หรือดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสาร และอาจมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
หลังจากตรวจสอบเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารยืนยันการเปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า และแจ้งวันเริ่มต้นใช้งานในชื่อใหม่ทันที
4. ชำระค่าธรรมเนียม (ถ้ามี)
ในบางกรณี อาจมีค่าธรรมเนียมสำหรับการเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งอาจรวมถึงค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า, ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของมิเตอร์และเงื่อนไขของหน่วยงานการไฟฟ้า ควรสอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ก่อนดำเนินการ
5. รออนุมัติและตรวจสอบสถานะ
หลังจากยื่นเรื่องเรียบร้อยแล้ว กระบวนการอนุมัติอาจใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยผู้ขอเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้าสามารถติดตามสถานะผ่านระบบออนไลน์ หรือโทรสอบถามที่สำนักงานการไฟฟ้า เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าคนใหม่จะปรากฏบนใบแจ้งหนี้ของรอบบิลถัดไป
การดำเนินการเปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อต้องย้ายเข้าบ้านใหม่ เพราะช่วยให้มั่นใจว่าการเรียกเก็บค่าไฟจะถูกต้องและไม่มีปัญหาตามมาในอนาคต ทั้งนี้ ควรเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนและติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อให้สามารถใช้งานไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นและไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิ์ในการใช้มิเตอร์ไฟฟ้าในอนาคต
นอกจากสาระน่ารู้เรื่องบ้านที่เรานำมาฝากกัน สำหรับใครที่กำลังมองหาบ้านโครงการใหม่ เพื่อเริ่มต้นชีวิตในแบบที่คุณต้องการ สามารถเลือกโครงการบ้านบนทำเลที่ใช่จาก Noble Development ได้เลย เรามีโครงการบ้านหลากหลายดีไซน์ ในทำเลศักยภาพที่ตอบรับทุกความต้องการในชีวิต ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมบนเว็บไซต์ และลงทะเบียนรับข้อเสนอพิเศษจากเราได้เลย
ข้อมูลอ้างอิง
- MEA แนะผู้ใช้ไฟฟ้าอัปเดตชื่อเจ้าของมิเตอร์ ช่วยรักษาสิทธิประโยชน์มากมาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 จาก https://www.mea.or.th/public-relations/corporate-news-activities/announcement/D81yLpfkz
- MEA แนะวิธีเปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์ออนไลน์ ปลอดภัย สะดวกรวดเร็วทันใจ. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 จาก https://www.mea.or.th/public-relations/corporate-news-activities/announcement/yjIFdA45R