ไขคำตอบ ประกันภัยคอนโดมีกี่ประเภท ? รวมข้อมูลฉบับเข้าใจง่าย
การซื้อคอนโดมิเนียมสำหรับอยู่อาศัย หมายถึงการที่คุณตัดสินใจเลือกไลฟ์สไตล์ พื้นที่ส่วนตัว และความสงบในแบบที่คุณต้องการ และไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียนในเซกเมนต์ใดก็ตาม การวางแผนเพื่อปกป้องสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ผู้อยู่อาศัยต้องให้ความใส่ใจ แต่หลายคนอาจมองว่า การทำ “ประกันภัยคอนโดมิเนียม” เป็นเรื่องของภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้น แต่จะมีสักกี่คนที่มองว่า ประกันภัยเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนการวางระบบดูแลชีวิตของคุณเอง

ทำความรู้จัก ประกันภัยคอนโดมิเนียมมีกี่ประเภท ?
โดยทั่วไป ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับคอนโดมิเนียมสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. ประกันภัยอาคารชุด (สำหรับตัวอาคารและพื้นที่ส่วนกลาง)
ประกันคอนโดมิเนียมประเภทนี้ เป็นประกันภัยที่นิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้จัดทำ โดยมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินส่วนรวมของโครงการ รวมถึงโครงสร้างหลักของตัวอาคารทั้งในส่วนกลางและในห้องชุด เช่น
- โครงสร้างหลักของอาคาร
- ลิฟต์
- ห้องฟิตเนส สระว่ายน้ำ
- โถงทางเดิน ลานจอดรถ
- ระบบไฟฟ้าและน้ำประปาที่ให้บริการแก่ส่วนรวม
- โครงสร้างพื้นฐานในห้องชุด (เช่น ผนัง เพดาน พื้น ระบบไฟและประปาในตัวห้อง)
สำหรับประกันอัคคีภัยคอนโดมิเนียม และภัยอื่น ๆ เช่น ฟ้าผ่า ระเบิด มักเป็นส่วนหนึ่งของความคุ้มครองพื้นฐานที่พบในกรมธรรม์ประเภทนี้
อย่างไรก็ตาม กรมธรรม์ของนิติบุคคลจะไม่คุ้มครองพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของห้องชุด ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือทรัพย์สินภายในห้องพัก ดังนั้น หากต้องการความคุ้มครองที่ครอบคลุม ควรพิจารณาทำประกันภัยคอนโดมิเนียมเพิ่มเติมในนามส่วนบุคคล
2. ประกันภัยสำหรับห้องชุดส่วนบุคคล
ประกันภัยประเภทนี้ เป็นประกันคอนโดมิเนียมที่เจ้าของห้องสามารถซื้อเพิ่มเติม เพื่อดูแลทรัพย์สินภายในห้องของตนเอง ซึ่งครอบคลุมความเสียหายต่อไปนี้
- ความเสียหายจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำรั่วซึม
- ความเสียหายจากการโจรกรรม
- ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เช่น น้ำรั่วจากห้องตนเองไปยังห้องข้างล่าง หรือเหตุการณ์อื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ 3
- เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว (Loose Furniture) เช่น โซฟา เตียง โต๊ะ เก้าอี้
- สิ่งตกแต่งเพิ่มเติมภายในห้อง ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเดิม เช่น วอลเปเปอร์ ฉากกั้นห้อง ชุดบิวต์อิน
- เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ที่อยู่อาศัยภายในห้อง
อย่างไรก็ตาม ประกันภัยคอนโดสำหรับห้องชุดส่วนบุคคลจะไม่ได้คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน หรือความเสียหายที่เกิดจากการใช้งานผิดประเภท โดยรายละเอียดความคุ้มครองอาจแตกต่างกันตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกันภัย ผู้เอาประกันจึงควรตรวจสอบรายละเอียดของกรมธรรม์ก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
ถ้ามีแค่ประกันของนิติบุคคล ถือว่าเพียงพอไหม ?
หลายคนอาจเข้าใจว่า เมื่อนิติบุคคลมีการทำประกันภัยคอนโดมิเนียมแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อประกันภัยเพิ่ม แต่อย่างที่บอกไปว่า ความคุ้มครองจากนิติบุคคลจะครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางเท่านั้น แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นภายในห้อง เช่น
- เครื่องปรับอากาศรั่วจนผนังเสียหาย
- ไฟฟ้าลัดวงจรทำให้เฟอร์นิเจอร์ไหม้
- เกิดเหตุน้ำรั่วจนส่งผลกระทบต่อห้องอื่น
สำหรับกรณีเหล่านี้ นิติบุคคลอาจไม่สามารถให้ความรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอยู่นอกเหนือขอบเขตของพื้นที่ส่วนกลาง ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ผู้อยู่อาศัยควรทำประกันคอนโดสำหรับกรณีน้ำรั่ว หรือความเสียหายอื่น ๆ ภายในห้องเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเคลมค่าซ่อมแซมได้ทันท่วงที และลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด

อยากทำประกันภัยคอนโดมิเนียมเพิ่มเติม ควรเลือกแบบไหนดี ?
การเลือกประกันภัยที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่เรื่องของราคาถูกหรือแพงเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับมูลค่าทรัพย์สินภายในห้อง พฤติกรรมการอยู่อาศัย ไลฟ์สไตล์ และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย โดยทั่วไป ประกันคอนโดมิเนียมสำหรับเจ้าของห้องจะมีให้เลือก 2 รูปแบบหลัก ได้แก่
1. Standard Coverage
Standard Coverage หรือ ประกันภัยคอนโดมิเนียมแบบคุ้มครองพื้นฐาน เป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะภัยหลักที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูง และสร้างความเสียหายรุนแรง เช่น
- ไฟไหม้ จากอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในห้อง หรือเหตุไม่คาดฝันจากภายนอก
- ฟ้าผ่า ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับระบบไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
- ระเบิด อันมีสาเหตุมาจากแก๊สรั่ว หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่ออาคาร
- น้ำรั่วซึม ที่เกิดจากฝนตกหนัก ท่อน้ำแตก หรืออุปกรณ์ภายในห้องเสียหาย
- ภัยธรรมชาติบางประเภท เช่น ลมพายุ พายุลูกเห็บ หรือดินทรุดตัว
ประกันคอนโดมิเนียมรูปแบบนี้เหมาะสำหรับห้องคอนโดที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย ไม่ได้มีของมีค่ามาก หรือไม่ได้อยู่อาศัยเป็นประจำ ซึ่งผู้พักอาศัยอาจไม่ต้องการความคุ้มครองในระดับสูง ข้อดีของประกันแบบคุ้มครองพื้นฐาน คือ เบี้ยประกันภัยอยู่ในอัตราที่เข้าถึงได้ และสามารถเลือกวงเงินคุ้มครองให้เหมาะสมกับมูลค่าทรัพย์สินได้
แม้จะเป็นประกันภัยพื้นฐาน แต่ก็สามารถให้ความอุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร หรือฝนตกหนักที่ทำให้เกิดน้ำรั่วจากเพดาน
2. All Risk Coverage
All Risks Coverage หรือ ประกันภัยแบบครอบคลุมทุกความเสี่ยง เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์เจ้าของคอนโดที่ต้องการความคุ้มครองในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเหตุการณ์ที่อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในตอนแรก แต่กลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมหาศาลในภายหลัง เช่น
- โจรกรรม ทั้งจากการงัดแงะ หรือกรณีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องแต่ขโมยของ
- น้ำรั่วจากท่อน้ำภายในห้อง ซึ่งสามารถลุกลามไปยังเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่ห้องของเพื่อนบ้าน
- ความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โซฟาหนังแท้ หรือชุดครัวบิวต์อิน
- ความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น พื้นน้ำรั่วไหลไปยังห้องชั้นล่าง หรือทำให้ผนังของเพื่อนบ้านเกิดเชื้อรา
ด้วยความที่ All Risks Coverage เป็นประกันภัยที่ครอบคลุมหลากหลายกรณี จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดระดับพรีเมียม มีของตกแต่งที่มีมูลค่า เช่น เฟอร์นิเจอร์นำเข้า ของสะสม หรือเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ แม้เบี้ยประกันภัยจะสูงกว่าแบบพื้นฐาน แต่หากพิจารณาจากมูลค่าทรัพย์สิน และความอุ่นใจที่ได้รับในระยะยาว ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณต้องการใช้ชีวิตอย่างไร้กังวลในทุกมิติ
ประกันภัยคอนโดมิเนียมจึงไม่ใช่แค่การคุ้มครองทรัพย์สิน แต่คือการเติมเต็มไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยให้สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่การเลือกคอนโดมิเนียมสักแห่งไม่ใช่แค่การเลือกทำเลหรือดีไซน์ แต่รวมถึงการสร้างความมั่นใจในทุกวันของการใช้ชีวิตด้วย
หากคุณกำลังมองหาคอนโดกรุงเทพฯ ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านดีไซน์ พื้นที่ใช้สอย สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบความปลอดภัยที่รอบด้าน โครงการจาก Noble Development พร้อมให้คุณสัมผัสความหรูหราที่มากกว่าแค่ผิวเผิน บนทำเลศักยภาพใกล้รถไฟฟ้า ใจกลางไลฟ์สไตล์ที่คุณเลือกเองได้ คลิกเลือกอ่านรายละเอียดโครงการ นัดหมายเข้าชมห้องตัวอย่าง และลงทะเบียนรับข้อเสนอพิเศษได้ที่เว็บไซต์ของเรา
ข้อมูลอ้างอิง
- อยู่คอนโด จำเป็นต้องทำประกันเพิ่มหรือไม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 จาก https://www.tipinsure.com/NewsAndActivities/newscontentv4/ประกันภัย/อยู่คอนโด-จำเป็นต้องทำประกันเพิ่มหรือไม่.
- ประกันภัยคอนโด. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 จาก https://www.tipinsure.com/Fire/firestep1/tip_condo.